วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเลี้ยงปลากัด

การเลี้ยงปลากัด
           ภาชนะสำหรับใช้เลี้ยงปลากัดอาจเป็นขวดโหลรูปทรงต่างๆ หรือตู้กระจกขนาดเล็ก เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยชอบต่อสู้ จึงควรแยกออกเลี้ยงเดี่ยวในภาชนะ เมื่ออายุประมาณหนึ่งเดือนครึ่งถึงสองเดือน การเลี้ยงปลากัดเป็นจำนวนมากๆ ในฟาร์มเลี้ยงปลากัดในประเทศไทย มักนิยมใช้ขวดแบนขนาด  ๑๕๐ มิลลิลิตร ซึ่งสามารถวางเรียงกันได้โดยไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ อีกทั้งปากขวดแคบเล็ก สามารถป้องกันปลากระโดด และศัตรูปลาได้ดี สถานที่วางขวดหรือโหลควรเป็นที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี  ไม่ร้อนเกินไป เพราะอุณหภูมิน้ำที่สูงเกิน ๓๐ องศาเซลเซียส  อาจทำให้ปลาตายได้เช่นเดียวกับอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป ซึ่งจะทำให้ปลากินอาหารได้น้อย และเป็นสาเหตุให้ตายได้เช่นกัน
           ส่วนน้ำที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลากัดจะต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน  บรรจุน้ำประมาณ ๓ ใน ๔  ของภาชนะที่ใช้เลี้ยง ปลากัดสามารถฮุบอากาศที่ผิวน้ำหายใจ ใช้ออกซิเจนได้โดยตรง จึงไม่ต้องให้อากาศ การถ่ายน้ำควรถ่ายน้ำ ๑ - ๒  ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาจเปลี่ยนน้ำทั้งหมด หรือดูดตะกอนและน้ำออกบางส่วน แล้วเติมน้ำใหม่ลงไปก็ได้           โดยธรรมชาติ ปลากัดเป็นปลาที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น ไรสีน้ำตาล ไรแดง ลูกน้ำ หนอนแดง แต่ก็สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดและเนื้อสัตว์ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กได้ การให้อาหารควรให้วันละ  ๑  ครั้ง ในปริมาณที่ปลากินอิ่ม ซึ่งสังเกตได้โดยปลาจะกินอาหารทันทีที่ให้ อาหารธรรมชาติ  เช่น ไรแดง หนอนแดง และลูกน้ำที่ช้อนจากแหล่งน้ำที่ปกติค่อนข้างเน่าเสีย อาจมีโรคและปรสิตของปลาติดมาด้วย จึงควรทำความสะอาดโดยล้างในน้ำสะอาด และแช่ในด่างทับทิมเข้มข้น ๐.๕ - ๑.๐ กรัม/ลิตร  ประมาณ ๑๐ - ๒๐ วินาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ก่อนให้เป็นอาหารปลา ไรสีน้ำตาลหรืออาร์ทีเมียจะไม่มีปัญหานี้ เนื่องจากเป็นไรน้ำเค็มที่เลี้ยงในความเค็มสูง ทุกๆ ๑ - ๒  เดือน ควรล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้เลี้ยง


การเลี้ยงปลากัดจีนในขวดแบนของชาวบ้านที่หมู่บ้านปลากัดหนองปากโลง จ. นครปฐม
การเพาะพันธุ์ปลากัด
          ปลากัดเป็นปลาที่ผสมภายนอก และมีการสร้างรังโดยการก่อหวอดที่ประกอบด้วยฟองอากาศที่เกิดจากเมือกในปากปลากัดจะเจริญพันธุ์พร้อมที่จะผสมพันธุ์วางไข่ได้ตั้งแต่อายุ  ๓  เดือนขึ้นไป  อย่างไรก็ตามพ่อแม่พันธุ์ที่จะใช้ผสมพันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่  ๕ - ๖  เดือน ขึ้นไป  ปลาเพศผู้ที่สมบูรณ์พร้อมเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีควรมีลักษณะแข็งแรง ปราดเปรียว ชอบก่อหวอดสร้างรัง ปลาเพศเมียที่เป็นแม่พันธุ์ควรสมบูรณ์แข็งแรง ปราดเปรียว มีลักษณะท้องอูมเป่ง บริเวณใต้ท้องมีตุ่มสีขาวใกล้รูก้น เห็นได้ชัดเจน ตุ่มสีขาวนี้เรียก ไข่นำ  นอกจากลักษณะกว้างๆ ดังกล่าว  ผู้เพาะพันธุ์ปลากัดอาจเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีสันหรือลักษณะรูปทรงของครีบแบบต่างๆ เพื่อผสมให้ได้สีสันและรูปทรงของลูกปลาตามที่ต้องการ
          เมื่อคัดปลาพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว ควรเอามาใส่โหล และวางโหลชิดกันให้ปลาพ่อแม่พันธุ์มองเห็นกันตลอดเวลา เพื่อเร่งไข่ให้เกิดการพัฒนาให้เร็วขึ้น วิธีนี้เรียกว่า การเทียบคู่ บริเวณที่ใช้เทียบควรปราศจากสิ่งรบกวน เวลาที่ใช้เทียบอาจประมาณ ๓ - ๑๐ วัน  ขึ้นอยู่กับว่าปลาเพศเมียจะมีความสมบูรณ์เพศระดับไหน ซึ่งสังเกตได้จากบริเวณท้องที่อูมเป่ง เมื่อตัวเมียท้องอูมเป่งเต็มที่นำปลาตัวผู้และตัวเมียมาใส่รวมกันในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับใช้ผสมพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นภาชนะขนาดเล็ก เช่น  ขันพลาสติก  โหลแก้ว  ตู้กระจก อ่างซีเมนต์ หรือโอ่งน้ำซึ่งขนาดพื้นที่ไม่ควรกว้างมากนัก  เติมน้ำให้สูงจากก้นภาชนะ ๕ - ๑๐ เซนติเมตร ใส่พันธุ์ไม้น้ำที่ล้างสะอาดหรือใบไม้ เพื่อเป็นที่สำหรับก่อหวอด สร้างรังของปลา หากเป็นภาชนะขนาดเล็กที่ขอบไม่สูงมาก อาจต้องมีฝาปิดด้านบน เพื่อป้องกันปลากระโดด และป้องกันศัตรูปลา
          ประมาณ ๑ - ๒ วันหลังจากนั้น ปลาตัวผู้จะเริ่มก่อหวอดสร้างรังติดกับพันธุ์ไม้น้ำหรือใบไม้ เมื่อสร้างหวอดเสร็จแล้ว ปลาตัวผู้จะแผ่พอง ไล่ต้อนปลาตัวเมียให้ไปอยู่ใต้บริเวณหวอด เมื่อปลาตัวเมียลอยตัวมาใต้ผิวน้ำบริเวณหวอด ปลาตัวผู้จะเข้ารัดโดยงอตัวประกบรัดด้านล่าง ปลาตัวเมียก็จะปล่อยไข่ออกมา ขณะเดียวกันปลาตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่จะค่อยๆ จมลงสู่ก้นภาชนะ  และปลาตัวผู้จะว่ายตามลงไป ใช้ปากดูดอมไข่ไว้ทีละฟองจนเต็มปาก จึงว่ายน้ำขึ้นไปพ่นติดไว้ที่หวอด แล้วว่ายขึ้นมาฮุบฟองอากาศ สลับกับการว่ายลงไปเก็บไข่ขึ้นมาพ่นไว้ที่หวอดจนหมด การรัดและวางไข่จะเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง จนตัวเมียวางไข่หมด แต่ละครั้งอาจทิ้งช่วงห่างกันตั้งแต่ ๑ -  ๒  นาที จนถึง  ๗ - ๘  นาที ระยะเวลาในการผสมพันธุ์วางไข่อาจใช้เวลาตั้งแต่ ๑ - ๖  ชั่วโมง เมื่อการวางไข่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัวผู้จะไล่ต้อนตัวเมียให้ออกไปห่างจากรัง และทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง โดยปลาตัวผู้จะคอยเก็บไข่ที่หล่นจากรังกลับไปพ่นไว้ที่หวอด เมื่อสังเกตว่าปลาตัวเมียวางไข่เสร็จแล้ว ให้ช้อนปลาตัวเมียออก เพื่อป้องกันตัวเมียกินไข่ที่ผสมแล้ว จากนั้นปล่อยให้ปลาตัวผู้ดูแลไข่ต่อประมาณ  ๒  วัน จึงแยกปลาตัวผู้ออก ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวในระยะเวลาประมาณ ๓๖  ชั่วโมง
          ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ จะเกาะอยู่ที่หวอด ในระยะนี้จะมีถุงอาหารติดตัวมาด้วย และจะใช้อาหารจากถุงอาหารนี้หมดในระยะเวลา ๓ - ๔ วัน ดังนั้นในช่วง ๓ - ๔  วันแรก จึงยังไม่จำเป็นต้องให้อาหาร หลังจากถุงอาหารยุบหมดแล้ว ลูกปลาจึงจะเริ่มกินอาหาร ซึ่งในระยะแรกต้องให้อาหารที่มีขนาดเล็ก เช่น ไข่แดงต้มสุกละลายน้ำกรองผ่านตะแกรงตาถี่  หยดกระจายให้ลูกปลาวันละ ๑ ครั้ง  หรืออาจให้โรติเฟอร์ ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวขนาดเล็ก เป็นเวลาประมาณ  ๓ - ๕ วัน จึงให้ไรแดงขนาดเล็กที่กรองคัดโดยใช้ตะแกรงตาถี่ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นให้ไรแดงตัวเต็มวัย  จนกว่าลูกปลาโตสามารถกินลูกน้ำได้  ในกรณีที่มีปัญหาในการหาไรแดง อาจใช้ไรสีน้ำตาล หรือไข่ตุ๋นแทนได้ ในการอนุบาลถ้าเพาะปลาในภาชนะขนาดเล็ก ให้ย้ายไปอนุบาลในภาชนะขนาดใหญ่ โดยค่อยๆ เททั้งน้ำและลูกปลาลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้อนุบาล  ซึ่งอาจจะเป็นตู้กระจก อ่างดิน อ่างซีเมนต์ โอ่งน้ำ หรือถังไฟเบอร์ เพิ่มระดับน้ำวันละ ๓ - ๕  เซนติเมตร ใช้สายยางดูดตะกอนเศษอาหารออกเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย จนประมาณ ๑๐ วัน จึงเปลี่ยนถ่ายน้ำ โดยเปลี่ยนประมาณ ๑ ใน ๔  ของน้ำทั้งหมด เมื่อลูกปลาอายุประมาณ ๑๑/๒ เดือน  ก็สามารถแยกเพศได้ ให้คัดแยกปลาออกไปเลี้ยงเดี่ยว เพื่อป้องกันการกัดกัน ลูกปลาอายุ ๑ เดือน จะมีขนาดลำตัวเฉลี่ยประมาณ ๑ เซนติเมตร และจะเพิ่มเป็นประมาณ ๓ เซนติเมตร  ในเดือนที่ ๒



ปลากัดเพศผู้ที่มีความสมบูรณ์พร้อมเป็นพ่อพันธุ์


ปลากัดเพศเมียมีท้องอูมเป่งพร้อมผสมพันธุ์
โรคและการรักษา
          ๑)  โรคจุดขาว เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว ชื่อ อิกไทออฟทีเรียส  มัลติฟิลิส (Ichthyophthirius multifilis)  ซึ่งมักเรียกกันว่า  “อิ๊ก”  อาการจะเป็นจุดขาวบริเวณลำตัวและเหงือก ขนาดความกว้าง ๐.๕ - ๑.๐  มิลลิเมตร การรักษาให้แช่ปลาในน้ำที่ผสมฟอร์มาลิน ๒๕ - ๓๐ ส่วนในล้านส่วน และมาลาไคต์กรีน ๐.๑  ส่วนในล้านส่วน ติดต่อกัน  ๓ - ๕ วัน
          ๒)  โรคสนิม เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวชื่อ โอโอดีเนียม (Oodinium sp.) อาการจะมีลักษณะเป็นจุดคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาลเป็นหย่อมๆ ตามผิวหนังของปลา วิธีรักษาให้แช่ปลาในน้ำที่ผสมเกลือแกง ๑%  เป็นเวลา ๒๔  ชั่วโมง ทุกๆ  ๒  วันจนหาย    
          ๓)  โรคที่เกิดจากปลิงใส  เกิดจากปลิงใส  ๒  ชนิด  คือ ไจโรแด็กไทลัส (Gyrodactylus sp.) และแด็กไทโรไจรัส (Dactyrogyrus sp.) อาการส่วนหัวของปลาจะมีสีซีด  ส่วนลำตัวมีสีเข้ม  ครีบกร่อน และพบปลิงใสตามลำตัวและเหงือก การรักษาให้แช่ปลาในน้ำผสมด้วยฟอร์มาลิน ๓๐ - ๕๐  ส่วนในล้านส่วน หรือดิปเทอเรกซ์ ๐.๒๕ - ๐.๕  ส่วนในล้านส่วน
          ๔)  โรคเชื้อรา เกิดจากเชื้อแซโพรเลกเนีย (Saprolegnia sp.) ลักษณะอาการจะเห็นเป็นปุยขาวๆ  คล้ายสำลีตรงบริเวณที่เป็นโรค วิธีรักษาให้แช่ปลาในน้ำที่ผสมมาลาไคต์กรีน ๐.๑ - ๐.๒๕   ส่วนในล้านส่วน และฟอร์มาลิน  ๒๕  ส่วนในล้านส่วน เป็นเวลา  ๓ วัน  
          ๕)  โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  อาการที่ปรากฏ  คือ  มีอาการท้องบวม  มีของเหลวในช่องท้องมาก การรักษาให้แช่ในน้ำที่ผสมยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซีเททระไซคลินความเข้มข้น ๑๐ - ๒๐ ส่วนในล้านส่วน  หรือในน้ำผสมเกลือแกง ๐.๕%  เป็นเวลา  ๓ - ๕ วัน


]

โรคสนิม เห็นเป็นจุดสีเหลืองปนน้ำตาล เป็นหย่อมๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น